ไผ่เป็นพืชที่มีศักยภาพสูงในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นไม้โตเร็ว มีความสามารถในการตรึงก๊าซคาร์บอนใดออกไซด์ ป่าไผ่ส่วนใหญ่ใช้เวลาไม่ถึง 7 ปี ก็สามารถให้ปริมาตรไม้ที่ กักเก็บคาร์บอนได้ในปริมาณที่เทียบเท่ากับป่าธรรมชาติที่ใช้เวลา 40 – 100 ปี นอกจากนี้หากได้รับการจัดการที่เหมาะสมในพื้นที่เท่า ๆ กัน ไผ่จะช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนใดออกไซด์ ผลิตก๊าซออกซิเจน และกัก เก็บคาร์บอนไว้ในรูปของเนื้อไม้ได้มากว่าต้นไม้ทั่วๆไปถึง 33- 70% (ไผ่ พืชทางเลือกกับการซื้อขายคาร์บอนเครดิต)
คาร์บอนเครดิต
คาร์บอนเครดิต หมายถึง สิทธิที่เกิดจากการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อม (โดยที่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกอื่น ๆ จะเทียบกับสัดส่วนการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์) อันเนื่องมาจากการที่บุคคลหรือองค์กรได้ดำเนินโครงการหรือมาตรการที่มีเป้าหมาย เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อม รวมถึง การเก็บกัก หรือ การดูดกลับด้วย จากกิจกรรมหรือโครงการ ซึ่งสิทธิดังกล่าวนี้สามารถวัดปริมาณ โดยจะต้องมีการรับรองโดยหน่วยรับรอง ตามระเบียบหรือวิธีการของทางราชการที่เป็นที่ยอมรับหรือเทียบได้กับระดับสากล ( องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) เป็นองค์การมหาชน หรือ Thailand Greenhouse Gas Management Organization (Public Organization :TGO) ภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม เป็นหน่วยวิเคราะห์ กลั่นกรอง และรับรองโครงการ ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานรับรองของประเทศไทยตามพระราชกฤษฎีกาให้จัดตั้งองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก พ.ศ. 2550) เมื่อได้รับการรับรองสิทธิแล้วสามารถนำไปซื้อขายในตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตได้
โครงการหรือกิจกรรมในการขอการรับรองคาร์บอนเครดิต มี 2 ลักษณะ ได้แก่
- โครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งในระดับนโยบายหรือระดับโครงการ โดยเป็นการลดจากกิจกรรมการผลิต การใช้พลังงาน การขนส่ง กิจกรรมการเกษตร การใช้ประโยชน์ที่ดิน และการจัดการของเสีย
- โครงการดูดกลับก๊าซเรือนกระจก ได้แก่ การดูดกลับลงในชั้นใต้ดิน การปลูกต้นไม้เพื่อดูดกลับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นต้น
ตามข้อตกลงในพิธีสารเกียวโตได้กำหนดกลไกต่างๆ ให้ประเทศพัฒนาแล้วต้องลดปริมาณการปล่อยก๊าซที่ก่อให้เกิดปฏิกิริยาเรือนกระจก ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะโลกร้อน หนึ่งในกลไกคือ การซื้อขายมลพิษ หรือ คาร์บอนเครดิต กับประเทศที่กำลังพัฒนา เพราะประเทศที่พัฒนาแล้วกำลังอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถลดก๊าซที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาเรือนกระจกลงตามที่กำหนดไว้ได้
กิจกรรมด้านคาร์บอนเครดิต
ไผ่สามารถนำมาคำนวณคาร์บอนเครดิตได้หลากหลายรูปแบบ เช่น
- กิจกรรมการปลูกไผ่
- การทำไบโอชาร์ จากไผ่ (อ่านต่อได้ที่: คาร์บอนเครดิตด้วยไบโอชาร์จากไผ่)
Reference
องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) http://carbonmarket.tgo.or.th/
กฤษรัตน์ ศรีสว่าง. (2021). ‘ตลาดคาร์บอนเครดิต’ กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง https://www.bangkokbiznews.com/news/915259
คาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) คืออะไร https://www.tei.or.th/th/article_detail.php?bid=129
ไผ่ พืชทางเลือกกับการซื้อขายคาร์บอนเครดิต (2554) วารสาร : เคหการเกษตร ธ.ค. 2554 ปีที่ 35 ฉบับที่ 12 หน้า 193, 195-197